เปิดตัว Lanna Digital Economy for SMEs สร้าง Startup หวัง 5 ปีฟันเม็ดเงินเพิ่มกว่าพันล้าน

Share This:

กรมส่งเสริมอุตฯจับมืออุทยานวิทย์ฯมช. เอกชน เปิดตัว Lanna Digital Economy for SMEs สร้าง Startup หวัง 5 ปีฟันเม็ดเงินเพิ่มกว่าพันล้าน มีเชิญคนดัง “น็อต-วรฤทธิ์”แบ่งปันความสำเร็จด้วย


ที่โรงแรมแชงกรีล่า จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หอการค้า, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดและเกี่ววข้องเปิดตัว “โครงการสร้างและพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเชื่อมโยงระบบดิจิทัล” (Lanna Digital Economy for SMEs) ภายใต้กิจกรรมสร้างและพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่สู่การเป็น Smart SMEs กับแนวคิด “Be Startup Be Smart with DIP” เป็นหลักสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เชื่อมโยงระบบดิจิทัล มุ่งหวังให้เกิดการสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ (Startup) ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เพิ่มทักษะ และขีดความสามารถการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจ โดยมีกลุ่มธุรกิจและผู้สนใจในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 ร่วมโครงการกว่า 600 ราย โดยมีนางแน่งน้อย เวทยพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นประธานและกล่าวคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเชื่อมระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพจะมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้


โดยโครงการมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีศักยภาพยกระดับสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve นักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลและผู้ที่สนใจ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน รวมทั้งสอดคล้องและตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงถือเป็นกลไกหนึ่งในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลและส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง เข้มแข็งและยั่งยืน


ทั้งนี้โครงการ Lanna Digital Economy for SMEs เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญตามยุทธศาสตร์กลไกประชารัฐ ซึ่งนำการสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ในพื้นที่มาผนึกกำลังผสานการทำงานร่วมกัน ภายในงานเปิดตัวโครงการฯ มีการสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจ ตลอดจนการถ่ายทอดประสบการณ์และเผยเคล็ดลับสู่ความสำเร็จของธุรกิจน่าสนใจปัจจุบัน อาทิ น๊อต- วรฤทธิ์ เฟื่องอารมณ์ เจ้าของธุรกิจเจลสูดดม “เดอะ กอริล่า” และ ภญ. โสภา พิมพ์สิริพานิชย์ ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ผ้าพันคอ แบรนด์ Zoë Scarf เป็นต้น

รวมทั้งการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการ SMEs และผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อสานฝันและติดอาวุธสู่การเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ พร้อมมีสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ไม่เพียงแต่จะได้รับคำปรึกษาเชิงลึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ, โอกาสการศึกษาดูงาน ณ สถานประกอบการหรือหน่วยงานต้นแบบเพื่อต่อยอดแนวคิดการเป็น Startup, การสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อนำไปต่อยอดการสร้างธุรกิจจนเกิดผลสัมฤทธิ์, รับสิทธิในการออกบูทจัดแสดงสินค้าเพื่อการประชาสัมพันธ์และโอกาสในการพบปะนักลงทุนในต่างประเทศ แต่ยังโอกาสในการขอรับทุนสนับสนุนการสร้างธุรกิจจากภาครัฐ และ/หรือแหล่งเงินทุนสนับสนุน Startup รวมทั้งการเข้าใช้พื้นที่การสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมด้วย Idea House, The Brick Startup Space และอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งพร้อมผลักดันและสรรสร้างนักธุรกิจให้มีอาวุธสู่การเป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ (Startup)ด้วยซึ่งจะจัดงาน ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2560 นี้

Comments

comments